
23/06/2025
กิจกรรมสรุปบทเรียนและปิดโครงการ “ต่อยอดการเรียนรู้สู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เครือข่าย CBT แม่ฮ่องสอน”: บทสรุปจากกระบวนการเรียนรู้ แนวทางการพัฒนาต่อ และกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
เป็นระยะเวลากว่า 9 เดือนที่เครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนพื้นฐานแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของผู้ร่วมเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนพื้นที่อำเภอปางมะผ้า 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านผามอน บ้านเมืองแพม และบ้านลุกข้าวหลาม โดยการต่อยอดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเหมาะสม
การจัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “ต่อยอดการเรียนรู้สู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เครือข่าย CBT แม่ฮ่องสอน” ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้เพื่อให้ผู้ร่วมเรียนรู้เกิดทักษะด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน ทั้งด้านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว การตลาด การขาย การบริหารจัดการกลุ่ม รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อผู้ร่วมเรียนรู้เกิดความรู้และทักษะเพื่อผู้ร่วมเรียนรู้สามารถยกระดับการดำเนินงานบริหารจัดการการท่องเที่ยวของกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และตรงกับความต้องการพัฒนาของผู้ร่วมเรียนรู้อย่างแท้จริง
หลังจากดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ครบถ้วนตามแผนกิจกรรมแล้ว เครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดกิจกรรมสรุปบทเรียนและปิดโครงการเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) บ้านลุกข้าวหลาม เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน รวมถึงถอดบทเรียนกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้เพื่อสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานต่อหลังจากการดำเนินโครงการสิ้นสุดลง
-
กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นด้วยการรายงานผลการดำเนินงาน โดยคุณเสรีทอง ศักดิ์คีรีงาม ประธานเครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้บอกเล่าถึงการดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งคณะทำงานโครงการได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อครอบคลุมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่กิจกรรมเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว โฮมสเตย์ สินค้าที่ระลึก กิจกรรมเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะด้านการตลาด ได้แก่ การสร้างแบรนด์และการสื่อสารการตลาด การนำเสนอสินค้า การออกร้านจำหน่ายสินค้ายังตลาดจริง กิจกรรมเรียนรู้เพื่อยกระดับการบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจ การดำเนินธุรกิจชุมชนภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากการรายงานผลการดำเนินงาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับชมการแสดงการเต้น “จะคึ” จากบ้านลุกข้าวหลามและบ้านผามอน โดยการเต้นจะคึถือเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดของชาวลาหู่ การเต้นจ่าคึเป็นกิจกรรมสำคัญที่ประกอบในพิธีกรรมและประเพณีสำคัญของชาติพันธุ์ ดังเช่น เทศกาลปีใหม่ การทำบุญหมู่บ้าน ฯลฯ นอกจากนั้น การเต้นจะคึยังเป็นกิจกรรมที่ชาวลาหู่ใช้ในการต้อนรับคนต่างถิ่นที่เข้ามาเยือนหมู่บ้านอีกด้วย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งผู้ร่วมเรียนรู้จากบ้านผามอน บ้านเมืองแพม และบ้านลุกข้าวหลาม รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เต้นจ่าคึร่วมกันอย่างสนุกสนาน
-
ช่วงต่อมาเป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ “ชุมชนและภาคีเครือข่ายกับการสร้างสรรค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” โดยกิจกรรมนี้เครือข่าย ฯ ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนาเพื่อบอกเล่าถึงบทบาทการทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงบทบาทการทำงานด้านอื่น ๆ รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย ตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา (ทกจ.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย วิทยาลัยชุมชน (วชช.) แม่ฮ่องสอน ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวปางมะผ้า และบริษัททัวร์เมิงไต นอกจากนั้นยังมีตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำลอด รวมถึงพี่เลี้ยงจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกับชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่
โดยภาพรวมหน่วยงานต่าง ๆ มีความเห็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนถือเป็นช่องทางการประกอบอาชีพที่สามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจหมู่บ้าน รวมถึงยังเป็นทางเลือกของการดำรงชีพเพื่อลดกิจกรรมการเพาะปลูกที่ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังคงเป็นที่นิยมของตลาดท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและความหลากหลายของวิถีชีวิตวัฒนธรรม ดังนั้นชุมชนท่องเที่ยวต้องดำเนินการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐาน ตั้งแต่ด้านการบริการ ความปลอดภัย และกิจกรรมท่องเที่ยวที่มี “เรื่องเล่า” เพื่อสร้างการเรียนรู้ของผู้มาเยือน สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงควรพัฒนาทักษะการบริการการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรเชื่อมโยงการจัดการท่องเที่ยวกับหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่รัฐและเอกชน ชุมชนท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ข้างเคียงเพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม
โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมเสวนาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยวผ่านแผนการพัฒนาและโครงการต่าง ๆ ตามขอบเขตการทำงานของหน่วยงานอย่างเต็มที่ หรือชุมชนท่องเที่ยวอาจเสนอความต้องการพัฒนาผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลักดันไปสู่แผนงานในระดับจังหวัดต่อไป
การเสวนาในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ชุมชนท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความึคิด และประสบการณ์ รวมถึงประเด็นซักถามถึงการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตปางมะผ้าเป็นเขตอนุรักษ์ทำให้ซึ่งมีกฎระเบียบของหน่วยงานหลายหน่วยงานซ้อนทับกันในพื้นที่ โดยจากการพูดคุยและซักถามทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในการใช้พื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวในหลายประเด็น ตั้งแต่กฎระเบียบการใช้พื้นที่ ขั้นตอนการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ ค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยในเวทีเสวนายังคงเป็นเพียงการซักถามเพื่อทำความเข้าใจกฎระเบียบการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเบื้องต้นซึ่งหน่วยงานและชุมชนท่องเที่ยวควรมีพื้นที่สร้างความเข้าใจร่วมกันต่อไปเพื่อให้ชุมชนท่องเที่ยวเข้าใจแนวทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสมและถูกต้องตามระเบียบพื้นที่ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันต่อไป
-
กิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการสรุปบทเรียนจากการร่วมกิจกรรมเรียนรู้ของผู้ร่วมเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย โดยจากการเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ตลอดทั้งโครงการได้ทำให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้เกิดการเพิ่มพูนทักษะการจัดการการท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ และสามารถนำทักษะที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มท่องเที่ยวแต่ละหมู่บ้าน ขณะเดียวกัน ยังทำให้พบประเด็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอีกหลายด้านที่ยังคงต้องพัฒนา รวมถึงทักษะในบางด้านที่กลุ่มท่องเที่ยวต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
ผลของการสรุปบทเรียนจากการดำเนินงานพบว่าผู้เข้าร่วมเรียนรู้จากกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผามอนสามารถเพิ่มพูนทักษะด้านการจัดการที่พักโฮมสเตย์ การจัดการที่พักแบบการตั้งแคมป์ และการพัฒนาพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมเรียนรู้เห็นว่าบ้านผามอนยังคงต้องพัฒนากิจกรรมระหว่างเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ “ดอยอู” การพัฒนานักสื่อความหมายให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของจุดเรียนรู้แต่ละจุดอย่างเป็นระบบ การพัฒนาความหลากหลายของสินค้าที่ระลึก ระบบการจัดการขยะ รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมหมู่บ้าน ได้แก่ การจัดการขยะ และการจัดทำป้ายสื่อความหมายและข้อมูลการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน
ผู้ร่วมเรียนรู้จากกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเมืองแพมเกิดทักษะด้านการพัฒนาที่พักโฮมสเตย์ โดยบางส่วนได้เริ่มปรับปรุงที่พักเพื่อให้เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้นยังเกิดทักษะด้านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งผู้ร่วมเรียนรู้ได้ทดลองจัดกิจกรรมท่องเที่ยวนอกแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว ทักษะการขายและการนำเสนอสินค้า ส่วนประเด็นที่ยังคงต้องพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พัก เช่น ห้องน้ำ ฟูกนอน ฯลฯ ให้มีมีความสะอาด ความสะดวกแก่การใช้ และความปลอดภัยของผู้เข้าพัก รวมถึงการพัฒนาสถานที่ขายสินค้าที่เหมาะสม และการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนผู้ร่วมเรียนรู้จากกลุ่มท่องเที่ยวบ้านลุกข้าวหลามสามารถเพิ่มพูนทักษะด้านการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ทักษะการนำเที่ยว และการสื่อความหมายเพื่อการท่องเที่ยวจากกิจกรรมการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทักษะการจัดการที่พัก รวมถึงทักษะการสื่อสารตลาดผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ ขณะที่สิ่งที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติม ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านพัก เช่น ไฟฟ้าส่องสว่าง ห้องน้ำ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยของเส้นทางท่องเที่ยว รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์การรักษาพยาบาล การจัดการข้อมูลสำหรับการสื่อความหมายที่เป็นระบบ การปรับปรุงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ภายในหมู่บ้านเพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและทันสมัย
การดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ตลอดโครงการได้ทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวเกิดทักษะการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เหมาะสม สามารถนำทักษะที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ตรงกับความต้องการพัฒนาของกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งได้นำมาสู่การพัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และเงื่อนไขของการท่องเที่ยวของแต่ละหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งสามหมู่บ้านสามารถยกระดับการดำเนินงานไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่การเข้าสู่ระบบวิสาหกิจชุมชน โดยนอกจากกลุ่มท่องเที่ยวแต่ละหมู่บ้านจะคาดหวังให้การทำงานภายใต้ระบบวิสาหกิจชุมชนเป็นเงื่อนไขของการดำเนินงานของกลุ่มท่องเที่ยวบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบในปลายทางแล้ว กระบวนการระหว่างทางยังทำให้ผู้ร่วมเรียนรู้เกิดทักษะการทำงานในอีกหลายด้านจากกระบวนการเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนวิสาหกิจ ตั้งแต่การทบทวนเพื่อการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การออกแบบโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการกลุ่ม หรือแม่กระทั่งการจัดเตรียมเอกสารเพื่อการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน
ไม่เพียงแต่กระบวนการจดทะเบียนวิสาหกิจจะเป็นทำให้เกิดความร่วมมือภายในกลุ่มเท่านั้น หากแต่กระบวนการดังกล่าวยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งสามหมู่บ้านที่อยากเห็นกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งสามหมู่บ้านยกระดับการดำเนินงาน โดยการก้าวสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีระบบการจัดการที่เป็นระบบ และการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพไปพร้อม ๆ กัน
-
โครงการ “ต่อยอดการเรียนรู้สู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เครือข่าย CBT แม่ฮ่องสอน” ที่ได้ดำเนินนการเสร็จสิ้นลงไปได้นำมาซึ่งผลเชิงการพัฒนาในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ปางมะผ้าอย่างเป็นรูปธรรรมและครอบคลุมมิติตต่าง ๆ ของการจัดการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว การขาย การตลาด การบริหารจัดการกลุ่ม รวมถึงเกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างกลุ่มท่องเที่ยวกับหน่วยงานต่าง ๆ อันนำมาซึ่งการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยได้อย่างตรงกับความต้องการพัฒนาของผู้ร่วมเรียนรู้จากทั้งสามหมู่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ผลเชิงการพัฒนาที่กล่าวถึงข้างต้นคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากขาดพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสมซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการที่เน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่มากกว่าผลเชิงการพัฒนาจึงได้แก่ความรู้และทักษะที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งทักษะด้านการปฏิบัติ การวิเคราะห์ และการรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการดำรงชีพ ดังที่ผู้ร่วมเรียนรู้สามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการทำงาน และประเด็นการพัฒนาที่ต้องดำเนินการต่อจากการเข้าร่วมโครงการนี้
เครือข่าย ฯ ในฐานหน่วยจัดกระบวนการเรียนรู้เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และทักษะที่ผู้ร่วมเรียนรู้ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้จะเป็นเสมือน “เครื่องมือ” กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนต่อยอดการพัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่ปางมะผ้าเพื่อยกระดับดำเนินงานด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน เครือข่าย ฯ ยังคาดหวังว่าในอนาคต หากกลุ่มท่องเที่ยวต้องเผชิญกับเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ผู้ร่วมเรียนรู้จะสามารถแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่กลุ่มท่องเที่ยวต้องเผชิญผ่านการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ใหม่ ๆ บนพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบด้วยตัวของกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้เอง
เพราะแม้การเรียนรู้ในโครงการนี้จะจบลงไปแล้ว หากแต่การเรียนรู้ในสนามชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด